, ,

เลือก Dripper ที่ใช่…ไว้ชงกาแฟที่ชอบ

Dripper-0

ถ้าไม่นับการชงกาแฟที่ใช้เเรงดันสูงอย่าง Espresso Machine, การชงด้วย Moka Pot หรือที่ใช้ระบบสุญญากาศอย่าง Siphon Coffee Pot เรายังมีการชงกาแฟที่ใช้หลักของการแช่ อย่าง French Press และการให้น้ำ “ไหลผ่าน” อย่าง Drip Coffee หรือ Pour Over ซึ่งในบรรดาวิธีที่กล่าวมา Drip Coffee และ Pour Over เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในบ้านเรา… มี Dripper วางขายทั่วไปตามร้านกาแฟมากขึ้น และมีให้เลือกหลากหลายแบบอีกด้วย ซึ่งถ้าคุณเป็นอีกคนที่กำลังสนใจอยากลองซื้อ Dripper สักอันเพื่อชงกาแฟดื่มด้วยตัวเอง…มาดูกันว่าแบบไหนกันที่จะเหมาะกับคุณ


‘Dripper’
คืออุปกรณ์ทรงกรวยที่มักจะใช้คู่กับกระดาษกรอง หลักการชงคือใส่กาแฟคั่วบดลงในกระดาษกรองแล้ววางบน Dripper รินน้ำร้องลงไปเพื่อให้น้ำร้อนไหลผ่านกาแฟ ผ่านกระดาษกรองอีกชั้น แล้วหยดลงมาเป็นน้ำกาแฟพร้อมดื่มอยู่ในภาชนะด้านล่าง ซึ่ง Dripper เองก็มีหลายแบบทำจากวัสดุหลายชนิดทั้งเซรามิก สแตนเลส พลาสติกหรือแก้ว และมีหลายรูปทรงซึ่งแต่ละรูปทรงจะมีผลโดยตรงต่อการไหลผ่านของน้ำ

#1 ‘ทรงกรวย’ (Cone-Shaped)

 ทรงกรวยนี้เรียกได้เป็นรูปทรงคลาสสิกของ Dripper  คือเป็นทรงกรวยที่ปลายทะลุเป็นช่องว่าง และมีแนวเกลียวอยู่ด้านใน (ความถี่และลักษณะของของแนวเกลียวไม่มีข้อจำกัดตายตัว ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต) เกลียวด้านใน Dripper จะช่วยให้น้ำไหลผ่านกาแฟได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดสุญญากาศ แต่เนื่องจากส่วนปลายของ Dripper นี้เป็นรูใหญ่เพียงตำแหน่งเดียว ทำให้น้ำไหลผ่านลงไปค่อนข้างเร็ว ฉะนั้นหากเราไม่ต้องการให้น้ำไหลผ่านกาแฟเร็วเกินไป หรือกลัวว่าน้ำจะสัมผัสกาแฟได้ไม่ทั่วถึง ก็ต้องพิถีพิถันกันในขั้นตอนการรินน้ำร้อน เพื่อให้น้ำสัมผัสกาแฟได้อย่างทั่วถึง และอยู่ในระยะเวลาเหมาะสม ฉะนั้น Dripper ทรงกรวยนี้จึงเหมาะกับผู้ที่พอมีทักษะเรื่องการดริปอยู่บ้าง หรือผู้ที่ต้องการฝึกฝนเทคนิคดริปก็นับว่าเป็นอุปกรณ์ฝึกฝนชั้นดี

image :  atomiccoffee

กระดาษกรองมักใช้คู่กัน คือ กระดาษทรงกรวยปลายแหลม โดยควรเลือกให้มีขนาดสัมพันธ์กับ Dripper ด้วย

image : Thomas Mathie

#2 ‘ทรงกรวยก้นตัดเป็นเส้นตรง

Dripper-Melittaimage : Ital Coffee

Dripper นี้เป็นทรงกรวยเช่นกัน แต่ปลายถูกบีบให้แคบเป็นแนวเส้นตรง มีรูขนาดเล็กอยู่ที่ปลาย ซึ่งตามท้องตลาดจะเห็นว่ามีทั้งแบบรูตำแหน่งเดียว – 2 ตำแหน่ง – 3 ตำแหน่ง โดยแรกเริ่มของ Dripper ทรงนี้คือแบบที่มีรูเดียวอยู่ตรงกลางของ Malitta ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยไม่ต้องใช้ทักษะการดริปมากนัก เพราะลักษณะของ Dripper ถูกออกแบบมาให้คล้ายเขื่อนที่กักน้ำเอาไว้ด้านบน แล้วค่อยระบายออกอย่างช้า ๆ สม่ำเสมอ เป็นการผสมผสานคุณสมบัติของการแช่และไหลผ่าน

แต่ก็เพราะการระบายออกอย่างช้า ๆ นี้แหละ ที่ส่งผลให้กาแฟสัมผัสน้ำร้อนอยู่นาน จนมีโอกาสที่กาแฟจะถูกสกัดมากเกินไป (Over-extraction) ทำให้เกิดรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ได้ ฉะนั้น Dripper ทรงนี้จึงถูกพัฒนาต่อให้มีรูเพิ่มเป็น 2 รู หรือ 3 รู (โดย Kalita) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกาแฟถูกสกัดมากเกินไป


Dripper ที่มีรู 3 ตำแหน่งนับว่าเป็นรุ่นที่ค่อนข้างเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นกับกาแฟดริป เพราะด้วยรูปทรงของอุปกรณ์เองก็ช่วยเราได้หลายอย่างแล้ว

อย่างแรก ทรงกรวยปลายตัดทำให้กาแฟกระจายตัวค่อนข้างดี ฉะนั้นเวลารินน้ำร้อนลงไปเพื่อ blooming กาแฟจะสัมผัสน้ำร้อนและคายเเก๊สได้อย่างทั่วถึง

อย่างที่สอง ตัว Dripper มีร่องสันช่วยเรื่องการไหลผ่านของน้ำ

อย่างที่สาม รู 3 ตำแหน่งจะช่วยชะลอไม่ให้น้ำไหลผ่านกาแฟเร็วเกินไป พร้อมกับช่วยไม่ให้น้ำขังอยู่ใน Dripper นานเกินไปด้วย หมายความว่าอัตราการไหลผ่านของน้ำจะค่อนข้างสม่ำเสมอ เหมาะกับการชงกาแฟดริปที่ต้องการให้น้ำสัมผัสกับกาแฟเป็นรอบ ๆ ซึ่งถ้าผู้ชงยังไม่ชำนาญเรื่องเทคนิคการดริปล่ะก็  Dripper แบบนี้จะช่วยลดปัญหากาแฟถูกสกัดมากเกินไปได้

Filter-cone2

image : Coffee Filter


กระดาษกรองมักใช้คู่กัน คือ กระดาษทรงกรวยปลายตัดที่ออกแบบมารองรับกับรูปทรงของ Dripper นี้โดยเฉพาะ

#3 ‘ทรงกรวยก้นแบน’ (Flat)



Dripper
แบบก้นแบน หรือ Flat ด้านบนจะเป็นทรงกรวยเช่นกัน แต่ตรงก้นจะเป็นฐานแบน ๆ รูปวงกลม ทำให้มองได้ว่าเป็นกึ่งทรงกรวยผสมทรงกระบอก มีรู 3 ตำแหน่งที่ก้น ซึ่งข้อดีของ  Dripper ทรงนี้คือน้ำกาแฟจะไม่ถูกขังไว้นานเกินไป ลดปัญาหากาแฟถูกสกัดมากไป แต่ข้อแตกต่างกับรุ่นอื่น ๆ คือด้านในของ Dripper อาจไม่มีเกลียวหรือร่องน้ำที่จะช่วยเรื่องการไหลผ่านของน้ำ… ดังนั้นกระดาษกรองที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับ Dripper รุ่นนี้จึงสำคัญมาก เพราะตัวกระดาษกรองเองมีริ้วคลื่นใหญ่ชัดเจน ปลายตัดเป็นฐานวงกลมรองรับกับ Dripper พอดี ซึ่งริ้วคลื่นของกระดาษกรองนี้ทำให้มีอากาศแทรกระหว่าง Dripper กับกาแฟค่อนข้างมาก ส่งเสริมให้น้ำไหลผ่านกาแฟได้สะดวก รวมถึงในตอนที่ผู้ชงรินน้ำร้อนลงบนกาแฟ กระดาษกรองที่เป็นริ้วคลื่นนี้จะช่วยลดผิวสัมผัสระหว่างน้ำร้อนกับ Dripper ทำให้อุณหภูมิของน้ำกาแฟไม่ถูกดูดซับไปกับ Dripper 


Dripper-Flat-3

image : wreckingballcoffee 

‘Dripper แบบก้นแบน + กระดาษกรองแบบคลื่น’ ดูจะเป็นการออกแบบที่คลายปัญหาหลายๆ ประการสำหรับผู้เริ่มต้น ทั้งเรื่องความสม่ำเสมอของการไหลผ่านของน้ำ ระยะเวลาที่กาแฟสัมผัสกับน้ำจะค่อนข้างเสถียร (ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความละเอียดของกาแฟบด) ทำให้แม้ยังไม่ชำนาญเรื่องการเทคนิคการดริปเท่าไหร่ ก็ยังเพลิดเพลินไปกับการชงกาแฟดื่มด้วยตัวเองที่บ้านได้เรื่อย ๆ 

#3 ‘มัตซึย่า’ (Matsuya Style)


Dripper ทรงเปลือยแบบ Matsuya เป็นเทคนิคการชงกาแฟที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวญี่ปุ่น ซึ่งอาจไม่คุ้นตาเราเท่าไหร่นักเพราะยังไม่นิยมเสิร์ฟเป็นเมนูกาแฟในบ้านเรา โดยรูปทรงของ Dripper และกระดาษกรองที่ใช้คู่กันจะมีคุณสมบัติพิเศษมาก ตรงข้ามกับแบบอื่นๆ ที่กล่าวมาเลยทีเดียว และที่เห็น Dripper เปลือย ๆ แบบนี้เพราะหลักการของการชงนั้นคล้ายกับอบกาแฟด้วยไอร้อน ฉะนั้นจึงไม่ต้องการให้มีวัสดุใดๆ มากั้นระหว่างไอร้อนและกาแฟ 

การชงแบบ Matsuya นี้จะน่าสนใจมาก แต่จะมีวิธีการอย่างไร และกาแฟที่ได้รสชาติเป็นยังไง ติดตามต่อไปกับ CoffeeED นะคะ

≡ ≡ ≡ ≡

Acknowledgement : ขอบคุณพี่หมู Bottomless Coffee Roasters สำหรับความรู้ คำแนะนำ และเอื้อเฟื้ออุปกรณ์ Dripper ให้เราถ่ายรูปมาฝากกันค่ะ 

≡ ≡ ≡ ≡


ติดตามเรื่องราวของกาแฟได้ที่

Coffee Education Fanpage

web1